หลังเหตุการณ์ ของ เหตุการณ์ 6 ตุลา

ผลกระทบทางการเมือง

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่พระมหากษัตริย์โปรด เป็นนายกรัฐมนตรี ธานินทร์เลือกคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเองโดยไม่สนใจรายชื่อของคณะรัฐประหาร[5]:259 รัฐบาลสั่งปิดสื่อห้ามเผยแพร่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งหมด 3 วัน รัฐบาลชุดนี้เป็นชุดที่นิยมเจ้าและต่อต้านฝ่ายซ้ายดุดันที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาหนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กว่า 3,000 คน[15]:258 มีการโจมตีกองโจรเป็นระลอกตามมา ซึ่งเพิ่มถึงขีดสุดในต้นปี 2520[32] มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นภัยสังคมเชื่อว่าจำนวนอย่างน้อย 8,000 คนระหว่างเดือนตุลาคม 2519 ถึงมิถุนายน 2520[33]:50 และถูกนำเข้าฝึกอบรมหลายเดือนเพื่อมิให้เป็นภัยต่อสถาบันหลักของชาติ[16]:423 มีสื่อไม่กี่สำนักซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเหลือรอดจากเหตุการณ์[33]:52 มีเจ้าหน้าที่ราชการลับคอยนั่งฟังบรรยายของครูอาจารย์[33]:52 ไม่ช้าลัทธิคลั่งชาติของธานินทร์ก็ได้บาดหมางกับแทบทุกภาคส่วนของสังคมไทย[5]:246 รัฐบาลถูกวิจารณ์ว่ามีแนวคิดขวาจัด อีกทั้งเสถียรภาพของรัฐบาลเองก็ไม่มั่นคงเพราะถูกคณะนายทหารครอบงำ วันที่ 26 มีนาคม 2520 มีความพยายามรัฐประหารโดยมีพลเอก ฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้นำ แต่กระทำการไม่สำเร็จ พลเอกฉลาดถูกประหารชีวิตฐานเป็นกบฏ[34] สุดท้ายรัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดลงด้วยรัฐประหารโดยคณะที่มีพลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าคณะ โดยอ้างถึงความมั่นคงของรัฐ และความล่าช้าในการร่างรัฐธรรมนูญ[34] ทั้งนี้สุรพล ธรรมร่มดีเห็นว่าบทบาทของ พคท. ช่วยถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายซ้ายและขวา ทำให้ไม่เกิดการปราบปรามรุนแรงและภาวะเผด็จการยาวนานเหมือนกับประเทศอินโดนีเซียสมัยซูการ์โน[35]:100

หลังหมดรัฐบาลธานินทร์การปฏิรูปประชาธิปไตยเป็นไปอย่างทีละน้อย แต่เป็นระบอบที่ไม่ท้าทายผลประโยชน์ของชนชั้นนำเหมือนสมัยปี 2516–2519 อีก คือไม่สนใจเรื่องความขัดแย้งของชนชั้น[36]:65 กระแสสังคมนิยมถูกทำลาย[36]:76 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีความพยายามตีความเหตุการณ์ 6 ตุลาใหม่โดยไม่ได้มองว่าเป็นจุดจบของกระบวนการประชาธิปไตยอีกต่อไป แต่เป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อไปได้ใหม่[15]:271

ผลกระทบทางสังคม

กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้รับการแก้ไขหลังเกิดเหตุการณ์นี้ มีการปรับโทษจากเดิมไม่เกินเจ็ดปี เป็นจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี สำหรับคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร จะมีผลทำให้มีการตีความถอยกลับคืออาจมีการฟ้องคดีซ้ำได้แม้ศาลต่างประเทศพิพากษาถึงที่สุดและยังไม่พ้นโทษ, คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระมเหสี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกรัชกาล และต้องระวางความตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายทหารต่างกรรมกัน และห้ามอุทธรณ์ฎีกาในเวลาไม่ปกติ (เช่น กฎอัยการศึก)[37]

ผลของรัฐประหารปี 2519 ทำลายขบวนการเคลื่อนไหว 3 ประสาน หรือแนวร่วมระหว่างนักศึกษา กรรมกรและชาวนา ทำให้องค์การแรงงานต้องพึ่งตนเอง[38]:82 ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นช้ามากเมื่อเทียบกับช่วงประชาธิปไตย คือ จาก 12 บาทต่อวันในปี 2516 เป็น 25 บาทต่อวันในปี 2518 ก่อนเพิ่มเป็น 28 บาทต่อวันในปี 2520 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่บังคับใช้นานที่สุดนับแต่มีกำหนดขึ้น[38]:82 การดำเนินการของสหภาพแรงงานถูกควบคุมอย่างสูง มีการจัดตั้งองค์การน้อยลง จำนวนข้อพิพาทแรงงานลดลง[38]:82 ลูกจ้างที่หยุดงานในช่วงรัฐบาลธานินทร์ถูกจับในข้อหาภัยสังคม[38]:85 รัฐบาลออกกฎหมายห้ามนัดหยุดงานอยู่ช่วงหนึ่งก่อนยกเลิกไป[38]:86–7 มีการออกกฎกระทรวงจำกัดสิทธิการนัดหยุดงานของกิจการบางประเภทที่ใช้มาถึงปัจจุบัน เช่น รัฐวิสาหกิจ กิจการขนส่งหรือกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง[38]:88

ช่วงปี 2521–3 นักศึกษาจัดตั้งองค์การเคลื่อนไหวได้ใหม่อีกแต่อยู่ภายใต้อิทธิพลของ พคท. อย่างลึกซึ้ง จนอิทธิพลดังกล่าวหมดไปในปี 2526[39]:144 ช่วงปี 2526–31 หลังจากเครือข่ายนักศึกษาระหว่างสถาบันหมดบทบาทลง ได้มีการจัดตั้งองค์การเคลื่อนไหว 4 แนวทาง เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)[39]:166 การประท้วงของนิสิตนักศึกษาหายไปจนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (2535) และสร้างบรรยากาศกดขี่อย่างทารุณจนถึงคริสต์ทศวรรรษ 1980[40]:77 ชาญวิทย์ เกษตรศิริเตือนว่า การชุมนุมทางการเมืองอย่าค้างคืนเพื่อไม่ให้ทางการวางแผนปราบปรามได้ ไม่ให้ซ้ำร้อยเหตุการณ์ 6 ตุลา[41]

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่เกินปกติเป็นลบช่วงสั้น ๆ แต่เปลี่ยนกลับมาเป็นบวกภายใน 1–2 สัปดาห์[42]:20–1

วงการภาพยนตร์ไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลามีแต่ภาพยนตร์ข่าวของทางการเป็นส่วนใหญ่ ภาพยนตร์กึ่งสารคดี ทองปาน ว่าด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ทีมงานต้องหนีออกนอกประเทศ และกลับมาฉายในปี 2520 หลังตัดต่อแล้ว สำหรับเรื่องที่สะท้อนทัศนะของคนที่สมัยนั้น เช่น หนักแผ่นดิน กำกับโดยสมบัติ เมทะนี เนื้อหาว่าด้วยลูกเสือชาวบ้านที่ต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย[43]

กระบวนการทางกฎหมาย

"แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ"[6]:64

ผู้ประท้วง 27 คนถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี ไม่มีผู้ก่อการคนใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อันที่จริงผู้ฆ่าได้รับความดีความชอบในฐานะผู้พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์[6]:64 สมาชิกคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองได้รับการนิรโทษกรรม แต่ไม่ห้ามดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง[5]:266 นอกจากนี้ ไม่มีการสืบสวนของรัฐใด ๆ ทั้งสิ้นต่อสาเหตุของเหตุการณ์ หรือว่านักศึกษาสะสมอาวุธหรือไม่[6]:8–9 ธงชัยเห็นว่าสุดท้ายแล้วไม่น่าเอาผิดผู้ใดได้ ส่วนหนึ่งเพราะความจริงจะทำลายบุคคลจำนวนมาก และสามสถาบันของชาติ[15]:252 จนถึงปี 2554 ญาติผู้เสียชีวิตกล่าวว่ายังไม่มีการชดเชยจากรัฐบาลใด[44]

สุวรรณ แสงประทุมกับพวกรวม 18 คนที่ถูกจำคุกมาตั้งแต่แรกโดยไม่มีการตั้งข้อหา จนถูกฟ้องฐานก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และรวมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ และอีก 1 คนถูกฟ้องศาลพลเรือนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[16]:434 คดีเริ่มในศาลทหารตามคำสั่งของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2520 หรือประมาณ 10 เดือนหลังถูกจับ รัฐบาลกำหนดให้ต้องหาไม่มีสิทธิใช้ทนายความ แต่มีผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ในดดีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส[15]:254 ต่อมา หลังรัฐบาลธานินทร์ล้มไป นักวิชาการและผู้นำพลเรือน ทนายความ ชาวไทยในต่างประเทศ รัฐและองค์การระหว่างประเทศจำนวนมากเข้าชื่อเรียกร้องให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดี[15]:254 ผู้ต้องหาค่อยได้รับอนุญาตให้มีทนายความ[16]:434 การพิจารณาคดีทุกครั้งมีผู้เข้าร่วมนับพันคน ข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผยมากขึ้น ฝ่ายผู้เกี่ยวข้องได้รับการชี้ความผิดและข้อน่าสงสัยจนเป็นผู้เสียประโยชน์เอง[16]:434–5

รัฐบาลเร่งผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ กรณี 6 ตุลาอย่างรวดเร็วจนตราในวันที่ 16 กันยายน 2521[16]:435 จำเลยในคดีถูกปล่อยตัวและถอนข้อหาทั้งหมด[45]:44 นับเป็นการเคลื่อนไหวทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหารไม่ต้องถูกดำเนินคดีใด ๆ ในอนาคต[45]:64 กฎหมายยังระบุด้วยว่าจำเลยกระทำความผิดเนื่องจากด้อยประสบการณ์[15]:254 เกรียงศักดิ์ย้ำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ จำเลยควรสำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และเตือน "ไม่ให้ผิดซ้ำอีก"[15]:254

ปฏิกิริยาและมติมหาชน

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาเกือบไม่ได้สร้างขึ้น เพราะปฏิกิริยาของเหตุการณ์ 6 ตุลา

ประชาชนต้อนรับรัฐประหารด้วยความโล่งใจอย่างกว้างขวางเพราะการชุมนุมประท้วงสร้างความวิตกกังวลใหญ่หลวง[19] หนังสือพิมพ์ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 ถึงมกราคม 2520 เรียกผู้เสียหายว่าผู้ก่อความไม่สงบ ผู้ก่อความวุ่นวาย คอมมิวนิสต์ กบฏ ผู้หลงผิดและศัตรู[15]:253 ทางการจัดกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อในหลายจังหวัด เช่น นิทรรศการเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่บริเวณสนามไชย[16]:422 ซึ่งเล่าว่าประชาชนที่เคียดแค้นพยายามจะเข้าไปจัดการกับ ศนท. ด้วยตนเอง ส่วนเจ้าหน้าที่พยายามระงับเหตุไทยฆ่ากันเอง แต่ถูกนักศึกษาใช้อาวุธก่อนจึงต้องตอบโต้ และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำทารุณ[16]:423 วันที่ 7 ตุลาคม 2519 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์เสด็จ ฯ เยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ และอีกสองสัปดาห์เสด็จฯ ในงานบรรจุศพของลูกเสือชาวบ้านผู้เสียชีวิต[16]:423 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในวันที่ 31 ธันวาคม 2519 ตอนหนึ่งว่า "...ประชาชนคนไทยมีการแสดงออกชัดเจนขึ้น ว่าต้องการอะไร เมื่อแสดงออกมาเช่นนี้ ก็ทำให้รู้ใจกัน และสามารถช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสิ่งที่ต้องการ มีจะมีอุปสรรค แม้ความยากลำบากขัดขวางอยู่ก็ทำได้ ขอเพียงให้ร่วมมือ ร่วมใจกันจริง ๆ..."[46] ด้านพลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจพระราชสำนัก ให้ความเห็นต่อพระราชดำรัสว่า "ที่ถูกที่สุดก็คืออย่าแปล รับสั่งว่าอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น ถ้าแปลแล้วอาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้"[47] การพิจารณาคดี 6 ตุลาในปี 2520–21 ทำให้มติมหาชนเปลี่ยนไป โดยในคดีนั้นธงชัยรู้สึกว่ารัฐกลายเป็นจำเลยเสียเอง[15]:254 อย่างไรก็ดี แม้หลังรัฐบาลนิรโทษกรรมแกนนำนักศึกษาแล้ว แต่รัฐบาลยังห้ามเผยแพร่วาทกรรมสวนทาง คือจะปล่อยให้สังคมลืมไปเอง[15]:254 รัฐบาลใช้วิธีตรวจพิจารณาสื่อ คงไว้เฉพาะการรำลึกถึงในมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งเท่านั้น[15]:255 แม้สังคมจะหันมาเห็นใจนักศึกษามากขึ้นแล้ว แต่ก็มาพร้อมเงื่อนไข "หุบปากเหยื่อ"[6]:37–8 กิจกรรมรำลึกครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ในปี 2539 มีปฏิกิริยาของสื่อและสาธารณะในทางยอมรับเสียงของผู้ถูกกระทำ เริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างขึ้นในฐานะความเหี้ยมโหดที่ไทยฆ่ากันเองเพราะความเห็นต่าง เป็นประวัติศาสตร์ที่รอการชำระ[16]:445

วีรชนเดือนตุลาที่กลุ่มการเมืองแทบทุกฝ่ายยกเว้นกองทัพกลับถูกตีความใหม่ว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย เป็นเหตุให้ไม่ได้สร้างอนุสาวรีย์ทั้งที่วางศิลาฤกษ์แล้วในเดือนตุลาคม 2518[15]:266 เริ่มมีความพยายามสร้างอนุสาวรีย์แก่วีรชนเดือนตุลา และนักศึกษา 6 ตุลาในปี 2532 แต่ล่าช้ามาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายในปี 2541 มีการตั้งอนุสาวรีย์อุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลา 2516 ซึ่งธงชัยแย้งว่าที่ตั้งได้ส่วนหนึ่งเพราะกันนักศึกษา 6 ตุลาไปแล้ว[lower-alpha 5]

ปฏิกิริยาของฝ่ายซ้าย

ทัศนะเกี่ยวกับการล่มสลายของขบวนการฝ่ายซ้ายที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดมีว่า การกระทำของฝ่ายซ้ายเองในช่วงปี 2516–2519 ทำให้ฝ่ายขวามีข้ออ้างสวนกลับได้[15]:270 ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ดูไม่ออกเลยว่าคณะรัฐประหารจะรอดจากปฏิกิริยา แต่หลังเหตุการณ์ทำให้การประท้วงเป็นไปไม่ได้อีก[2]:10 นักศึกษาจำนวนมากไปเข้ากับ พคท. เพราะเชื่อตามพรรคที่ว่าแนวทางรัฐสภาใช้ไม่ได้ผล[15]:258–9 หลายคนรู้สึกขมขื่นและแค้นใจซึ่งหวังใช้พรรคแก้แค้นเพื่อนที่เสียชีวิต[15]:259 แต่ต่อมานักศึกษาที่เข้าป่าก็ขัดแย้งกับ พคท. หมดศรัทธาเนื่องจากอุดมการณ์แบบลัทธิเหมาซึ่งเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ต่างทยอยออกมารับข้อเสนอของรัฐให้กลับคืนสู่สังคม[15]:260–1 นับแต่นั้นฝ่ายซ้ายหลายคนจึงละอายใจ ส่วนหนึ่งเพราะกลับมารับความเมตตาของรัฐไทย อีกส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกผิดกับการแบ่งฝ่ายและความตายของสมาชิกที่ชักชวนเข้าพรรค[15]:261–2 หลายคนฆ่าตัวตาย บางคนยังยึดถือแนวทางรุนแรงก็ไปเข้ากับศาสนาพุทธมูลวิวัติและองค์การนอกภาครัฐประชานิยม[15]:261 หลังปี 2539 ฝ่ายซ้ายหลายคนกล้าเปิดเผยเรื่องของตนมากขึ้น หลายคนเล่าอดีตที่เคยเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ด้วยความภูมิใจ[16]:445

ปฏิกิริยาของฝ่ายขวา

ความจริงที่เขาและผู้เขียนรู้อาจจะเป็นชุดเดียวกันมากที่สุดก็เป็นไป แต่เขาก็จะไม่แคร์และไม่ปิดบัง เพียงแต่เขาให้คุณค่าความหมายแบบหนึ่ง ผู้เขียนให้ตรงข้ามไปอีกแบบ [...] -ณ- ต้องการเทศนาแก่ผู้เขียนว่าจะต้องเข้าใจความจริงนั้นในแบบที่เขาคิด แถมยังเตือนว่าความเข้าใจแบบนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ผู้เขียนเองได้ยินได้ฟังมานักต่อนักซ้ำแล้วซ้ำอีกแต่ยังคงดื้อด้านอยู่ ดังนั้นก็จงตระหนักว่ามี "คนประเภทเดียวกับเขา" อยู่เต็มประเทศไทย

—ธงชัย วินิจจะกูล[lower-alpha 6]

หลายเดือนหลังจากนั้นฝ่ายขวาตอกย้ำความเลวร้ายของนักศึกษา และตนประกอบวีรกรรมรักษาประเทศชาติไว้ได้[16]:411 ฝ่ายขวาได้สร้างความทรงจำแบบฉบับขึ้นแทบทันที[16]:426 เป็นการโฆษณาที่ ท่ามกลางบรรยากาศ "ล่าแม่มด" สมัยรัฐบาลธานินทร์มีครูบาอาจารย์ให้การแก่ตำรวจเรื่องนักเรียนนักศึกษาฝ่ายซ้าย อาจารย์แพทย์รายหนึ่งแจ้งจับแพทย์และบุคลากรโรงพยาบาลเดียวกัน ข้าราชการมหาวิทยาลัยให้ชื่ออาจารย์และบุคลากรร่วมมหาวิทยาลัย[16]:430 การส่งเสริมให้สังคมลืมเหตุการณ์หลังพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ปี 2521 หมายความว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ใช่ชัยที่ควรฉลองอีกต่อไป[16]:436 ผู้มีอำนาจหลายคน เช่น พลตรี จำลอง ศรีเมือง นายทหารกลุ่ม "ยังเติร์ก", พลเอกชาติชาย และสมัคร[16]:437–8 ต่างปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่และความสัมพันธ์กับขบวนการฝ่ายขวา[15]:255–6 เป็นอันว่าวาทกรรมของฝ่ายขวาก็ถูกกดให้เงียบ คงเหลือเพียงการแก้ตัวหรือหลบเลี่ยง[16]:438 ถึงอย่างนั้นควรสังเกตว่าพวกเขาไม่ประณามเหตุดังกล่าว เข้าใจว่าบุคคลเหล่านี้กลบเกลื่อนไว้เพื่อประโยชน์ด้านความนิยมเท่านั้น[15]:256–7 บทความของพันตำรวจตรีมนัสในปี 2537 นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายปราบปรามออกมาเล่าแย้งกับทัศนะแบบฉบับของฝ่ายขวา เช่น เห็นนักศึกษายอมแพ้[16]:439 กระนั้นเขายังมีทัศนะฝ่ายขวาว่านักศึกษาเป็น "เชลย" และคนถูกยิงเป็นญวน[16]:439–40 ฝ่ายขวาหลายคนรู้สึกว่าพวกตนตกเป็นจำเลยสังคม แต่ส่วนใหญ่ยังมิได้มองว่าพวกตนกระทำผิด[16]:411–2 ในปี 2541 พลตำรวจโท สมควร หริกุล ผู้ร่วมก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่านักศึกษาและ พคท. หวังดีต่อชาติ[6]:45 ส่วนพลตรี สุดสาย หัสดิน หัวหน้ากระทิงแดง ว่ายัง "ภูมิใจที่ช่วยให้ประเทศไทยยังรักษาประชาธิปไตยไว้ได้"[6]:45 ส่วนสมาชิกกระทิงแดงระดับล่างหลายคนบอกว่าพวกตนเป็น "ผู้ปิดทองหลังพระ" หมายความถึง การยอมรับการถูกประณามเพื่อส่วนรวม "คนเบื้องหลังที่เป็นอีแอบของคน 2 กลุ่มเคยถูกขุดคุ้ยออกมาพูดไหม ไม่เคย คนที่เป็นอีแอบปัจจุบันก็ยังเป็นอีแอบอยู่"[16]:445 ยืนยันว่าพวกตนไม่ได้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์โดยตรง คนหนึ่งว่าจะเข้าไปช่วยนักศึกษาด้วยซ้ำ[16]:448 ธงชัยเสนอว่ายังมีฝ่ายขวาในประเทศไทยอีกมากที่รับทราบข้อเท็จจริง และยอมรับโดยไม่ปิดบัง แต่มีทัศนะต่างไปจากฝ่ายซ้าย ซึ่งทำให้ตนถูก และฝ่ายซ้ายผิดอยู่ดี[16]:495

ใกล้เคียง

เหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน–ไทรแอสซิก เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 เหตุการณ์ 4.2 พันปี เหตุการณ์โกก้าง เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส–พาลีโอจีน

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุการณ์ 6 ตุลา http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2007/08/2... http://bellschool.anu.edu.au/sites/default/files/p... http://www.bangkokpost.com/lifestyle/art/1098817/i... http://bangkokpundit.blogspot.com/2007/08/samak-su... http://edition.cnn.com/2008/WORLD/asiapcf/02/18/ta... http://content.time.com/time/magazine/article/0,91... http://data3.blog.de/media/661/2347661_35e0d731fd_... http://www2.hawaii.edu/~seassa/explorations/v1n1/a... http://ijaps.usm.my/wp-content/uploads/2019/01/IJA... http://www.2519.net/newsite/2016/5-%E0%B8%95-%E0%B...